วันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กุณฑล ไกรสินธุ์ เล่าเรื่องโปยุทธ ไกรสินธุ์





โปเล่าไว้เมื่อวัยชรา.


ตอนที่ ๑



......."โปหมดสงสัยแล้วสุกเขียวเหอ"... โปกล่าวย้ำกับฉันหลายครั้งหลายหน เมื่อแรกฉันฉงนว่าโปหมายความว่าอย่างไร โดยมากโปจะเป็นคนพูดแต่น้อย ท่านจะเป็นฝ่ายรับฟังมากกว่า ถ้อยคำแต่ละคำของโปเมื่อเก็บมาใคร่ครวญจะเป็นคติเตือนใจเสมอ
...."พ่อทวดของโปมาจากบ้านน้ำหัก"... โปเล่าให้ฉันฟัง ฉันอดถามไม่ได้ว่าบ้านน้ำหักอยู่ทางไหน โปบอกว่า..."พ้นบางครามไปก็เป็นคลองยัน พ้นคลองยันแล้วก็เป็นกุกเหนือ กุกใต้ ถัดจากนั้นก็เป็นน้ำหัก"...โปกล่าวต่อว่าที่คลองยันน้ำเชี่ยวจริงยืนไม่อยู่ ฉันตื่นเต้นไปพร้อมๆกับกลัวน้ำเชี่ยว เพราะที่คลองเหวียดยามเดือนสิบสองน้ำนองและในคลองน้ำไหลเชี่ยว แต่นึกว่าคงไม่เท่าคลองยันที่โปว่า
....."เมื่อโปยังกล้าอยู่ โปนึกว่าจะไปให้ถึงน้ำหักสักทีแต่ไปไม่ถึง" ฉันนึกในใจว่าบ้านน้ำหักนีมันคงไกลและไปยากโปจึงไปไม่ถึง
...."โปขี่ช้างไป พอไปถึงบางครามก็นอนค้างคืน รุ่งเช้าไปต่อ ไปได้เคียงกุก ก็ได้เรียน ได้ลังสาดเต็มหลังช้าง หมดแรงไปเลยหลบเหวียด"...ฉันสงสัยว่าโปคงจะมีญาติหรือคนรู้จักอยู่ที่บางครามและกุกจึงได้เรียนและลังสาดมากมายจนเต็มกูบช้าง
...."ที่นั้นเขาไม่หวง เพราะทั้งเรียนทั้งลังสาดมันขึ้นเองในป่า เต็มไปหมด คนก็ไม่มาก พวกลิงค่างก็กินไม่หมด เรียนหล่นเต็มโคน ไปเก็บเอาได้เลย พวกลังสาดสัตว์ป่าไม่เหลียวแลเพราะมันเปรี้ยว"....
ฉันยังจำกลิ่นเรียนกวนจากบางครามติดปลายจมูกอยู่เสมอ มันหอมหวนรัญจวนใจเสียจริง เขากวนแล้วห่อด้วยดกหมากแห้ง มัดหัวมัดท้ายด้วยตอกไม้ไผ่หรือตอกหวาย เมื่อยังไม่ได้แก้เชือกมัดจะมีกลิ่นจางๆ คำแรกที่ส่งเข้าปากเหมือนได้ลิ้มรสอาหารทิพย์........

ตอนที่ ๒ ลุงหลวงบวชเณรโปเป็นเด็กวัด.

......"ลุงหลวงเป็นกำพร้าตั้งแต่ยังเล็กอาศัยแม่"... โปยุดของสุกเขียวเล่าต่อ
...จริงๆแล้ว ชื่อสุกเขียวเป็นชื่อที่โปเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ใช้เรียกฉัน ท่านผู้อื่นไม่ว่าย่า พ่อแม่และคนทั่วไปเขาจะไม่เรียกฉันว่าสุกเขียว ชื่อยุดซึ่งเป็นชื่อของโปเป็นภาษาเสวียดมีความหมายในภาษากลางว่ายึด แต่ทางการเขียนผิดเป็นยุทธซึ่งแปลว่าการรบ อันทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิด

..."โป...ลุงหลวงคือทวดรุ่งหมันเปลา?"...โปว่า..."หมันแหละ...ลุงหลวงพอรุ่นบาวก็บวชเณรที่วัดตูใหญ่ พ่อกับแม่ของลุงหลวงตายตั้งแต่โปยังไม่เกิด บ้านอยู่ที่ดอนบ้านเก่า นาหลุมช้างข้างต้นปาบ แม่ของโปบวชให้ โปไปเป็นเด็กวัดเดินชั้นตามหลัง"... ฉันนอนฟังเงียบๆ ไม่ถามอะไร โปว่าต่อ...

..."พอครบกลายพระ ลุงหลวงไปกลายพระที่บ้านดอน ลุงหลวงกลับมาบอกแม่ว่าจะไปเรียนหนังสือที่บางกอก ไปเรือสำเภา แม่ให้ปี้ลุงหลวงไปห้าบาท"... ถึงตอนนี้ฉันนึกออกแล้วว่าเหตุไฉนทวดรุ่งท่านจึงรักเมตตาโปมากๆเมื่อคราวโปพาฉันไปเยี่ยมทวดเมื่อทวดอายุใกล้จะครบร้อยปีแล้ว
...."ลุงหลวงไปจากเหวียดแล้ว โปก็ไม่ได้ข่าวคราว สมัยนั้นการเดินทางไปมามันลำบาก พอครบบวชโปก็ได้บวชและหัดเขียนอ่านหนังสือ"...ฉันถามโพล่งขึ้นว่า...
...."อาจารย์ของโปชื่อพรือ?"
...."โปบวชพระที่วัดตูใหญ่ กับอาจารย์ในธรรม เรียนกอข้ออยู่หลายปีหวาตี้อ่านออกเขียนได้ นอกแต่นี้โปยังได้วิชชาหาเหมิ้นและนั่งกุฎิ"...

.....โปรดติดตามตอนหาเหมิ้นและนั่งกุฏิต่อไป

ตอนที่ ๓ วิชชาหาเหมิ้นและนั่งกุฎิ

..."เหวียดในคราวนั้นหมู่บ้านมีอยู่ห่างๆ ไม่กี่บ้าน"...พอโปกล่าวจบ ฉันขัดจังหวะนิดหนึ่งว่า ฉันจำโคลงหมู่บ้านในเหวียดของพ่อเฒ่าได้ โปถามว่าเจ้ารบมันว่าพรือ?...
..."บ้านพาน เศร้าศร้อย ศรีน้อย การจัด .....บ้านเหวียด คนตาย ชายวัด ลักควาย
บ้านกลาง ดอกทอง นกร้อง ขี้คร้าน"... ฉันท่องจบ โปว่าจริงของเจ้ารบ แล้วโปก็เล่าต่อ
..."วัดตูใหญ่เมื่อครั้งโปบวชพระมาก ท่านเหล็ก ก็เป็นศิษย์อาจารย์ในธรรม"...ฉันจำเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของอาจารย์ในธรรมที่โปเล่ารอบก่อนได้แต่ก็อยากฟังอีกจึงถามโปว่าอาจารย์ในธรรมมีอภินิหารไหรบ้าง?
..."คราวหนึ่ง พวกโมยมันบังอาจเข้าไปลักของวัดในเวลากลางคืน เอาของใส่เฌอสองหนวย หาบด้วยแหรก มันหาบตั้งแต่หัวค่ำ ทีแรกมันจะออกตูวา พ้นเตะมาหีดมันเลี้ยวขวา ไปทางเปรว ตัดป่าพร้าวไปฝ่ายตก วกบ่อเสียด เลี้ยวขวาไปทางเท่ เดินอยู่พันนี้ทั้งคืน ออกจากวัดไม่ถูก สุดท้ายเอาของมาวางไว้หน้าเตะอาจารย์ แล้วหนีไป"...
ฉันทึ่งในอภินิหารและแช่งพวกหัวโขมยในใจ แล้วขอให้โปเล่าต่อ
..."เพื่อนพระที่บวชอยู่ก่อนก็มีพี่เชน รุ่นเดียวก็เจ้าชุ่ม เจ้าชื่นและอีกหลายคน"
..."โปตาเชน คือตาเชนพ่อครูชม ครูชิน เสมียนเพชร หรือเปล่า"...
..."นั่นแหละ! พี่เชนตอนหลังสึกมา เป็นนายช่างทำเรือนหลังนี้ที่เรานอนอยู่นี่แหละ"...ทีนี้ฉันถึงบางอ้อ
..."พรรษาแรกโปชอบในทางสักเสกเลขยันต์"...ทีนี้ฉันหูผึ่งแพราะฉันก็ชอบเหมือนกัน ไม่ชอบได้อย่างไรในช่วงเวลาของฉัน เสวียดได้ชื่อว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เขาพูดกันว่า..."ที่เหวียดเวลานั้นเสียงปืนคือเสียงดนตรี"...ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยต้องหาเครื่องยึดเหนี่ยวไว้บ้าง
..."โปเลือกสักยันต์วิชชาหาเหมิ้น"...ฉันใคร่รู้วิชชาหาเหมิ้นเป็นฉันใด โปไม่ทันเล่าย่าตอบเสียก่อน
..."วันก่อนที่อสูรฝ่ายตกมันร้องท้า โปมึงหาเหมิ้นจับ ตัวสั้นโครม ๆ คว้าหอกใต้ดานม้า ถอดกลอนประตูเรือน ดีว่าย่าครุบทัน"...ทีนี้ฉันเข้าใจแล้วว่าหาเหมิ้นคือยันต์แกล้วกล้าอยู่ยงคงกระพัน เสวียดในยุคของโปยังไม่มีปืน การต่อสู้ใช้มีดใช้พร้าใช้ขวาน ความกล้าหาญและหนังเหนียวเป็นของจำเป็นในการต่อสู้ระยะประชิด
..."อาจารย์ของโปท่านเก่ง พรรษาเรียกใครเรียนผูก พรรษาสองให้เรียนแก้"...
...."โปเล่าต่อ"...
..."ท่านเรียกว่านั่งกุฎิ"...
..."ก่อนที่อาจารย์จะให้ลูกศิษย์ไปนั่งกุฏิ ต้องเรียนบทเวทย์มนต์คาถาให้ได้คล่องเสียก่อน เรียกว่าท่องเจ็ดตำนานกันจนขึ้นใจ ทีนี้กุฏิที่ว่าคือ สถานที่ชั่วคราวปลูกสร้างง่ายๆ บ้างมุงจาก มุงทางพร้าว แต่อยู่ใกล้ๆกับเปรว ให้อยู่กุฏิละองค์ ไปนั่งภาวนาในเวลากลางคืนทบทวนวิชชาที่อาจารย์สอนและทำสมาธิ บางคนวิชชาไม่แก่กล้าถึงกับเป็นบ้าเป็นบอก็มี แต่ถ้าใครปฏิบัติได้ตลอดพรรษา ไม่ถูกผีสางนางไม้เล่นงาน ถือว่ามีจิตใจมั่นคง ใช้แก้วิชชาที่อาจารย์ผูกไว้ให้ก่อนหน้านี้ได้ทุกวิชชา"...
...."โปมาก" ... ฉันรำพึงในใจ โปมากเรียนวิชชาเล่นกับภูติผิ ท่านคงไม่ได้ผ่านวิชานั่งกุฎิกระมัง จึงต้องมาหาโปยุดช่วยอยู่บ่อยๆ.....


ตอนที่ ๔ ไม้กวาดเรียวสน

......"พอพระปรกสวดญัติจบ อาจารย์ในธรรมจะเรียกพระใหม่เข้ามาแค่แล้วบอกกรรมฐานหรือฐานของกรรม ท่านว่าอนุโลมก่อน เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วตามด้วยปฏิโลมว่า ตโจ ทันตา นขา โลมา เกศา ให้พระใหม่ว่าตามให้ครบสามจบ หลังแต่นั้นท่านบอกว่ากิจของสงฆ์มีสามอย่างจำให้ดี เดินบาตร กวาดวัด ปัจเวก"...
อาจารย์ของโปพูดเข้าใจง่ายและใช้คำที่พอฟังจบก็จำได้เลยโดยไม่ต้องท่อง แต่ปัจเวก ฉันไม่ค่อยแจ้ง จึงถามโปว่ามันเป็นพันพรือ?
..."ปัดรับ ปัดส่งไง"...โปขยายความต่อ
..."ตามหลักของศาสนาพุทธ กำหนดให้พระภิกษุเป็นผู้ขอ หมายความว่าพระมีชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยการขอปัจจัยสี่จากชาวบ้านในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ได้จากการเดินบาตร เสนาสนะที่อยู่อาศัย สบงจีวรสังฆาฏินุ่งห่มและคิลานปัจจัยยารักษาโรค ล้วนแล้วแต่มาจากการบริจาคทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อจะรับสิ่งเหล่านี้จะต้องทำการพิจารณาเสียก่อนเรียกว่าปัดรับ บทคาถาคือ...ยถาปัจจยัง ปวัตเมตัง วิหารรัง ธาตุมัตตเวตัง.......พอใช้เสร็จก็ต้องพิจรณาอีกเรียกว่าปัดส่งมีบทคาถาเหมือนกัน เป็นพระขาดหลักการอันนี้ไม่ได้"...
ไม่เสียทีที่โปเป็นศิษย์อาจารย์ในธรรม ฉันฟังโปแล้วเข้าใจง่ายจริงๆ
...."เวลาพระเดินบาตรจะต้องท่องคาถาปัจจเวกหมวดอาหารไปด้วย ไม่ใช่เดินดุ่มๆ หรือเดินเหว้ยเดินวา ก่อนฉันข้าวต้องปัดรับ ฉันเสร็จปัดส่งแล้วให้พรด้วบคาถาบท...ยถา วริวหา..." ฉันพยายามทำตามคำโปว่าทุกอย่างตอนฉันบวชเป็นพระ โปเห็นฉันตั้งใจฟังจึงเล่าต่อ
...."พรรษาสุดท้ายในชีวิตพระของโป เขาป่าวประกาศให้ไปช่วยกันบูรณะฟื้นฟูพระบรมธาตุไชยา เหตุมาจากปลียอดพระธาตุที่ทำด้วยทองคำถูกโมยลัก ท่านเจ้าคุณเอี่ยมเป็นแม่งานใหญ่ ทั้งพระทั้งราวาสไปช่วยกันมาก โปฉันเช้าแล้วก็เดินไป สมัยนั้นจากเหวียดไปเชยาเดินไปทางบ้านศรีน้อย ผ่านบ่อเร่ราชา ไปออกปากช่อง"... ถึงตอนนี้ฉันแทรกขึ้นมานิดหนึ่ง เพราะฉันฝังใจบ่อเร่ราชา เพราะทุกครั้งที่ฉันผ่านสถานที่แห่งนี้ฉันกลัวเสือเป็นที่สุด ด้วยแม่เคยเล่าให้ฟังว่าที่ตรงนี้เสือขบท่านหวินแขนเกือบขาด ท่านหวินเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีน้อย แม่ของฉันเป็นชาวบ้านศรีน้อย ต่อจากนั้นโปเล่าต่อ...
..."พอถึงปากช่องโปแวะตัดเรียวสนหอบหนึ่ง ทุกวันเอาไปทำไม้กวาดไว้กวาดลานวัด"... ฉันโตแล้ว ที่บ้านก็ยังเห็นโปไปท่งสนตัดเรียวสนมาทำไม้กวาดสำหรับกวาดลานบ้าน เป็นเพราะสิ่งนี้กระมัง ทุกวันนี้ทุกๆเช้าที่ฉันตื่นมาฉันจะต้องกวาดลานบ้าน ตลอดออกไปนอกบ้านบนถนน ฉันระลึกในใจเสมอว่าฉันไม่เพียงกวาดใบไม้เท่านั้น ฉันกวาดขยะออกไปจากใจด้วย.......
....โปว่าไปช่วยงานวัดธาตุนี้ดี ได้รู้จักท่านครูขำ แต่เวลานั้นยังเป็นเณร...

ตอนที่ ๕ วิชชาแปด.
..."โปสิกเสียก่อนไม่ทันได้เรียนวิชชาแปด ได้แต่เบื้องต้น"...ฉันสงสัยใคร่รู้ว่าโปพูดถึงวิชชาอะไร จึงขอให้โปเล่าให้ละเอียด โปจึงขยายความว่า...
...."อาจารย์ในธรรมบอกว่าถ้าบวชหลายษาจะมีวิชชาให้เรียนเป็นลำดับ
แปดวิชชา ถ้าบวชษาสองษาเอาแต่เบื้องต้น วิปัสนาก็พอ"... ทีนี้ฉันพอเห็นราง ๆแล้ว พอจบจากไหว้พระทำวัตรทุกคราว ฉันเห็นโปนั่งขัดหมาดนิ่ง โปกำลังทำวิปัสนานั่นเอง แต่ฉันติดใจว่าวิชชาแปดของอาจารย์ในธรรมมีอะไรบ้าง ไม่ต้องถาม โปเดาใจฉันถูก จึงว่าให้ฟัง...
..."เริ่มแรกชีวิตพระ เมื่อรู้จักกรรม กรรมฐาน ต้องมีศรัทธาคือเชื่ออย่างแน่ชัดในกรรมและกฎของกรรม ไม่เชื่อไม่ได้ ทีนี้หัดทำสมาธิก่อนคือฝึกหยุดจิตตัวเองให้นิ่งคุมไว้อย่าให้ชุ่น แต่สุกเขียวเหอ! ใจคนมันเหมือนปลากลั้ง แถกไปฝ่ายโน้นที ดุกดิกไปฝ่ายนี้ที อาจารย์มีวิธีหรงให้มันตรงเรียกว่า แพ่งกสิณ ทีนี้พอคุมได้ ก็เริ่มเข้าญาณ เรียนวิชชาแรกได้คือ วิปัสนาญาณ โปได้แต่เท่านี้ วิชชาอื่นไม่ได้เรียน เพราะวิชชาวิปัสนาก็ใช้เวลาเป็นปีๆแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ"...ฉันคิดอยู่ในใจว่าแต่ละวิชชาของพระพุทธมันช่างยากจริง
...."อีกเจ็ดวิชชาโปไม่รู้ อาจารย์ก็ตายเสียแล้ว โปไม่รู้ตี้ไปถามใคร น่ากลัวสูญไปพร้อมอาจารย์ ใกล้ออกษาปีนั้น โปผ้าเหลืองร้อนเสียแล้ว.....



(สนิท ไกรสินธุ์ )...เพิ่งรู้ว่าพ่อบวช ๒ ษา เท่ากันกับพี่หลวงรูญ พี่รัตน์และพี่หรัส ได้คนละ ๗ วันหรือ ๑๐วัน ประมาณนั้น อาจึงเรียกพี่หลวงไม่ติดปากทั้ง ๒ คน...เจ้าฑลรู้หรือเปล่าว่าบ้านพ่อก่อนมาอยู่บ้านแม่ที่นกร้องนั้น คือบ้านหลังไหนในปัจจุบัน หรือว่าบ้านโปใจได้ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว อารู้แน่ว่าย่าคุ้มตอนแก่และตายอยู่บ้านอาเขียน คือบ้านที่เขิมและน้องไพอยู่ตอนก่อนย้ายไปกรุงเทพ



ตอนที่ ๖ จากบ้านกลางไปอยู่บ้านยางนกเกาะ
...เมื่อแต่คืนโปกับย่าพร้อมใจกันมาเข้าฝัน ท่านบอกว่าดีใจ ที่หลานคนสุดท้ายได้แต่งงาน โปสั่งว่าช่วยบอกกันว่าเมื่อรักษาแขนสองขาสองหัวหนึ่งได้แล้วให้พกหีนไว้ด้วยคือทำหูหนักอย่าหูเบาเชื่อคนง่าย คนโดยมากมันอิจฉาริษยามันจะคอยแยงให้ครอบครัวไม่ยืด ย่าบอกว่าขอให้เป็นสุขเป็นสุขต่างคนต่างให้แล้วจะได้เอง.....
ฉันตื่นขึ้นมา นึกทบทวน จำได้ว่า เมื่อโปลาสิกขาบทแล้ว ได้แต่งงานทันที โปว่าแม่จัดการไปขอเมียให้เป็นลูกสาวชาวบ้านยางนกเกาะ ฉันอดถามไม่ได้ว่าบ้านยางนกเกาะอยู่ที่ไหน
...."ก็บ้านนกร้องนี้แหละ" ย่าซึ่งเป็นชาวบ้านยางนกเกาะตอบแทน ย่าว่า
...."แต่เดิมหมู่บ้านนี้เรียกว่าบ้านยางนกเกาะ ที่ตกบ้านมียางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง พวกนกต่างๆ นกตืง นกเฮื๊ย นกฮอม นกยูง นกยางและสารพัดนกมาเกาะเต็มไปหมด จนต้นยางใบโหรง เขาเลยตั้งชื่อบ้านนี้ว่าบ้านยางนกเกาะ ล้ามาคนเรียกเพี้ยนเป็นบ้านนกร้อง"...
...."โปดั้งเดิมอยู่บ้านกลาง แม่เป็นคนลูกมาก ลูกชายทุกคนออกเรือนไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง บ้านแม่ให้น้องสาวถัดแต่โปชื่อเขียนอยู่ต่อกับเจ้าขัน พี่ทรัพย์พี่ศีลที่ออกเรือนไปก่อนก็ไปสร้างเรือนใหม่...."
...."เมื่อแต่แรกคลองเหวียดกว้าง เรือจากท่าฉางขึ้นมาขายของได้ จากบ้านกลางมาบ้านนกร้องต้องข้ามตั้งสองคลอง"....ฉันงงเพราะทุกวันนี้ไม่เห็นมีคลอง ย่าว่า
..."พ้นวัดสีฆ้องมาหีดหนึ่ง มีย่านคลองมาจากหนองยาว หนองโพธิ์ หนองเลนเปน แล้วไหลไปลงหนองเจ้าสุด"...

โปว่า...."อีกคลองที่ลิบไปแล้ว น้ำเปลี่ยนทาง แต่แรกน้ำพุ่งมาจากบ่อกรัง ท่าจาย เปรวเคียน ฝ่ายตกดอนโพธิ์ ลงทอนคล้า ออกหนองอำเภา แล้วลงท่า"...โอ้! เป็นเช่นนี้เอง สายน้ำยังเปลี่ยนทางเดินเลย กาลเวลาเปลี่ยนไป คนหรือ! จะไม่เปลี่ยนใจ..........



(สนิท ไกรสินธุ์ )...บ้านยางนกเกาะเพิ่งได้รู้วันนี้ และ ๒คลองก็เพิ่งรู้แต่ดูเค้าหนองต่างๆและทอนคล้าก็พอเห็นเค้า...แสดงว่าโปใจย่าคุ้มเป็นเจ้าของบ้านอาขันอาเขียนมาก่อน ก็ตรงกับที่อาคิดไว้เพราะเท่าที่รู้ดานม้าที่กว้างที่สุดในเสวียดอยู่ที่บ้านนี้ สมกับคนที่มีช้างใน...ยุคนั้น
คิดไป..สุกเขียวนี่เป็นลูกชายคนที่๒ หรือลูกคนสุดท้องของพ่อยุทธแม่มีอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะว่าลูกคนที่พ่อแม่รักมากที่สุดจะได้รับการถ่ายทอดความรู้มากกว่าลูกคนอื่นๆ หรือจะเรียกว่าพ่อแม่ชอบพูดชอบคุยกับลูกคนนี้มาก ...ไปที่หน้ากระจกบานใหญ่ หันหลังให้กระจก เอี้ยวคอดูหลังอีกที รอยป้ายมีดหม้อยังอยู่ชัดเหมือนแรกเกิดหรือเปล่า..
อยากอ่านต่อ...




ตอนที่ ๗ บิ้งขวัญ
...วันที่ฉันรอคอยวันหนึ่งมาถึงแล้ว ข้างเย็นฉันมีหน้าที่ขูดพร้าว ย่าทำ
หนมแดงหนมขาว โปไปเตรียมกล้วยอ้อย ตอเช้าโปจะทำขวัญข้าว
ดือนสามย่างเดือนสี่ ลมเย็นโชยพลิ้วต้องรวงข้าวไหวระริกเป็นริ้วคลื่น
ข้าวจวนจะสุกแล้ว นาข้าวของโปย่ามีมากหลาย แต่ละบิ้งมีลำดับการไถหว่านปักดำเป็นลำดับ ฉันจำได้ว่าเริ่มที่บิ้งขวัญ ตามมาด้วยบิ้งโพธิ์ บิ้งไพ บิ้งชายโรง บิ้งยม บิ้งม่วง บิ้งม่วงสองขา มาจบที่บิ้งข้างบ้าน การเก็บเกี่ยวก็จะไล่ลำดับเช่นกัน แต่ก่อนที่จะเริ่มเกียวโปจะต้องทำขวัญข้าวเสียก่อน ฉันเป็นผู้ช่วยโปตามไปดูอย่างใกล้ชิดด้วยความอยากรู้อยากเห็น อีกประการหนึ่งฉันชอบฟังเสียงโปเวลาโปสวดหรือร่ายมนตร์ต่างๆ มันไพเราะกินใจและเข้มขลัง
แต่เช้าพอหวันขึ้น ข้าวของที่เตรียมไว้ตั้งแต่วายกไปที่บิ้งขวัญ ย่าเก็บข้าว สามเลียง เอามาวางข้างๆกอข้าวที่โปรวบไว้เก้ากอ วางถาดบายศรีใกล้ๆ ในถาดมีของบัดพลี คือหนมแดงหนมขาวหรือหนมโค ข้าวสุก กล้วย อ้อย แตงกวา ถั่ว งา และแหวน โปจุดธูปจุดเทียนนั่งประนมมือผ้าขาวม้าพาดเฉียงร่ายมนต์ทำพิธีทำขวัญข้าวบูชาพระแม่โพสพ.....

"สิบนิ้วปราหนม บังคมยอไหว้ วันนี้วันดี เป็นศรีพระยาวัน คลาดแคล้วทรทึก ทักทินยมขัน ลูกจะทำขวัญ จัดสรรของดี กล้วยอ้อยแตงกวา
ถั่วงามากมี ทุกสิ่งใส่ที่ ให้แม่มาเสวย อีกทั้งพันธุ์ไม้ ลูกแต่งเอาไว้
ให้แม่ชมเชย ชุมเห็ดชุมแสง ชมโพ่แม่เอย พันธุ์ไม้ยังเหลย ไม้หว้ากำชำ
กล้วยอ้อยพรหมคต ลูกจัดไว้หมด รับแม่ตาดำ ย่านนางโพพิศ
ด้ายแดงขาวดำ ย่านลิเพาประจำ รัดพุ่มพฤกษา ไม้ทบเป็นหลัก ทำกรอมแล้วปัก รับพระมารดา ให้แม่ชมเชย พุ่มไม้พฤกษา ลูกน้อยคร่าวถ้า มารดาดำเนิน เชิญมาเถิดนะแม่ขวัญเอย...

แม่นิลพูสี มาตุลีเทวา ทั้งแม่เหล็กกล้า แม่ไพสาลี ปลาหลาดนำหน้า เมื่อแม่เสด็จมา นางนกคู้ลา มาจากคีรี ข้าวเหนียวข้าวจ้าว สิ่งละเม็ดด้วยดี
องค์พระมาตุลี นำแม่ข้ามา มาเอาขวัญข้าว ประสูติลูกเต้า เต็มทั้งไร่นา
มนุษย์ทั้งหลาย ได้รอดชีวา พระคุณมารดา สืบก้าวโดยตรง วันนี้ลูกยา ข้าวสุกแล้วหนา มาเชิญโฉมยง ให้แม่พูงา จากปราสาททองทรง
ชักชวนญาติวงศ์ แห่ห้อมล้อมนา นางแก้วนางทอง ทองพูนหนุนห้อง
พวงหวายลูกปลา นางขาวดำหอม ดอกยอมแมงดา ประทุมโสภา ยายออย่างดี
ช่อปริงดอกพร้าว เชิญมาเถิดเจ้า แม่นิลพูสี หน่วยเขือนางกอง นางทองรวงรี จุกเทียนหอมดี ข้าวหยีรวงดำ นางหอมประจำ ข้าวกระแจะหอมหวาน
ข้าวช่อไม้ไผ่ ไข่มดลิ้นคลาน ดาวเรืองเล่าท่าน ยังข้าวนั้นหลาย นางหงสงรส รวงงามปรากฎ หนวยแดงน่าเชย ชมข้าวย่านไทร รวงงามกะไหรเหลย เชิญแม่มาเชย ข้าวยอดพระนคร ปากนกนี้แหล้ เที่ยงแท้งามงอน รวงกองเป็นก้อน ข้าวเหลืองทองพูน ข้าวช่อไข่เป็ด กอรวงงามเสร็จ เต็มเม็ดไม่เหื้อง ข้าวโพดสาลี มีสีรุ่งเรือง นางหอมลูกปลา เชิญมาให้สิ้น ข้าวเทพมหาชัย มาแล้วแม่อย่าไป เชิญมาแม่มา มาชมให้สบาย ฤทัยชื่นบาน เชิญมาอย่านาน เลยท่านทั้งปวง...

โอ้แม่โพสพ ลูกเรียกมาจบ แต่ภูเขาหลวง เชิญมาอยู่เล็ด เสด็จมาอยู่รวง รับเอาบวงสรวง ที่ลูกบูชา ขวัญอยู่ไร่นา ลูกเรียกมาไว้ อย่าแหนงเลยหนา อยู่ในไร่ในนา เชิญมาทุกตน มาสร้างกุศล ด้วยคนเถิดหนา...

โอ้แม่โพสพเจ้า อย่าละห้อยศร้อยเศร้า เชิญมาแม่มา รับเอาขวัญข้าว สารพันนานา ที่ลูกบูชา นานาหลายพันธุ์ เงินทองแก้วแหวน ผูกมือถือแขน ข้างละคู่ทำขวัญ วัวดินแมงดา กุ้งปลาหลายพันธุ์ แต่งไว้ครบครัน ให้แม่ชมเชย เชยแล้วอย่าจาก บรรดามามาก รับเอาสังเวย แม่อย่าละเลย แม่อย่าไปไกล ปูผ้ารองรับ ขวัญแม่งามสรรพ มารับเครื่องสังเหวย ให้สำหราญใจ อัญเชิญขวัญแม่ เร่งมาไวไว แม่อย่าตกใจ แก่หนูหมูกวาง แก่สัตว์ต่างๆ แรดช้างในไพร วัวควายใดใด ขวัญแม่อย่าหน่าย แก่ฝูงมนุษย์ เรือนหักคลังทรุด ขวัญแม่อย่าหยุด อย่าตกเชิงกอน ขวัญแม่อย่าออน ขวัญแม่อย่านอน ที่ห้วยเหวผา เชิญมาเถิดนะขวัญแม่เอย".........



ตอนที่ ๘ ปลดชนักติดหลัง.

..."โปปลดชนักเมื่อตอนก่อนบวช"...วันหนึ่งโปบอกฉันไปพร้อมๆกับควั่นเชือกล่ามควาย เชือกล่ามควายของโปทำด้วยหวายผิวแข็งผ่าซีก โดยมากโปจะควั่นสามทบก็เหนียวพอล่ามควายได้แล้ว รับรองไม่มีขาด แต่ที่โปพูดฉันไม่เข้าใจ เคยได้ยินเหมือนกันคนเขาพูดว่ากันว่ามีชนักติดหลัง มีชนักติดหลัง แต่ไม่เข้าใจว่าเขาแปลว่าไหร? จึงบอกว่ามันเป็นพันพรือ!
...โปว่า "เมื่อก่อนตอนบาวๆโปแลช้าง มึงเคยเห็นมั๊ย ที่คอช้างมีเชือกถักเส้นหนึ่ง?"...ฉันรีบตอบเลยว่าเคยเห็น ในชีวิตฉันกลัวช้างเป็นที่สุดแต่ก็อยากเข้าแค่เข้าใกล้แต่ก็ไม่กล้า เห็นใครนั่งบนคอช้างชมเขาอยู่ในใจว่าเก่งจริงๆ โปจึงเฉลยต่อไปว่า...
"เชือกถักสำหรับคล้องคอช้างนั่นแหละที่เขาเรียกว่าชนัก ชนักไม่ใช่เชือกธรรมดา มันเปรียบเสมือนสายร้อยรัดรึงตรึงจิตใจคนกับช้างไว้ด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีหน้าที่เป็นทาสซึ่งกันและกัน เป็นสัญญาใจ ที่ต่างฝ่ายต่างจะต้องกตัญญูต่อกัน ยามเมื่อสายชนักคล้องคอช้างคนอยู่บนหลัง ไม่ว่าคนจะให้ช้างไปไหน ไปทำงานหนักหรือไปรบ ข้างหน้าจะเป็นแม่น้ำหุบเหวหรือกองไฟ ถ้าควาญบอกว่าไป ช้างจะไม่มีวันปฏิเสธ แม้ว่าจะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตก็ตาม ดังนั้นเมื่อคนหรือควาญลงจากคอช้าง ปลดสายชนักออกจากคอช้าง ควาญก็จะต้องสวมชนักนั้นคล้องคอไขว้หลังไว้และหน้าที่ก็จะกลับกัน ถึงตานี้คนก็จะต้องประพฤติตนเป็นทาสของช้างบ้าง มีหน้าที่หาหญ้าหาน้ำให้ช้างกิน ให้ที่หลับที่นอนให้สุขสบาย เห็นมั๊ยเลี้ยงช้างไม่ใช่ของง่าย..." ถึงตอนนี้ฉันเข้าใจแล้วว่าที่โปปลดชนักแล้วไม่กลับไปอีกมันเป็นอย่างไร แต่โปก็ยังเก็บของที่ระลึกสิ่งหนึ่งไว้พอให้ฉันได้เห็นร่องรอย นั่นคือหอก! ไม่ใช่ไอ้หอก! แต่เป็นหอกสำหรับเลี้ยงช้างจริงๆ โปว่าไม่มีช้างเมื่อคิดสร้างเรือนก็ต้องอาศัยช้างของเพื่อน ฉันถามโปว่า...
"โปอาศัยช้างใครทำเรือนหลังนี้?"......

(สนิท ไกรสินธุ์)... อยากรู้เหมือนกันว่าได้ช้างใครลากไม้มาจากดง...จะรออ่านต่อ



ตอนที่ ๙ ปลูกสร้างเรือนต้องทำให้ชับ.

......ฉันเรียนจบว่างงานอยู่หลายเดือน เพลงมหาลัยมหาหลอกของคาราบาว
กำลังดัง เนื้อหาและลีลาการร้องที่คร่ำครวญของนายแอ๊ด มันเสียดแทงใจเหลือเกิน...เขาว่า มหาลัยมหาหลอก เด็กชายบ้านนอกเด็กหญิงบ้านนา ร่ำเรียนรู้ในวิชา แต่จบออกมายังไม่มีงานทำ... ย่ำจนเท้าเป็นตุ่มตาปลา รองเท้าบาจายังหมดความทนทาน สอบพอได้ สัมภาษณ์ไม่ผ่าน ฉันหัวปานกลางเขาเอาแต่หัวดีดีฯลฯ....แต่ฉันก็ไม่หมดความพยายาม และแล้วฉันก็สอบเป็นข้าราชการจนได้ แต่เวลาก็ล่วงไปถึงวันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2525 ฉันจึงได้เป็นข้าราชการตามที่ย่าและโปได้สั่งไว้ ช่วงปีใหม่ทางการหยุดหลายวันฉันหลบบ้านไปหาโปหาย่า หลังกินข้าวค่ำกับน้ำพริกฝีมือย่า โปกล่าวขึ้นมาลอยๆ
..."ปลูกสร้างเรือนต้องทำให้ชับ ตั้งต้นชีวิตต้องคิดสร้างบ้าน"...
ย่ากล่าวย้ำและสอนไปในตัวด้วยว่า
..."ได้เงินเดือนอย่าใช้หมด เก็บเป็นไม้ดานเดือนละแผ่น ไม่นานพอทำบ้านทำเรือน"...สองประโยคนี้คือประโยคทองที่ฉันจำไม่มีวันลืมและไม่เคยบอกใครแม้แต่เมียและลูก คืนนั้นฉันจึงถามโปว่า ...
...."เรือนหลังนี้สร้างเมื่อไหร? "...
..."ทำยังไม่ทันเสร็จ 2-3 ปี ได้ก็เกิดสงคราม" ฉันครุ่นคิดในใจ สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิด พ.ศ.2488 โปสร้างบ้านเมื่อ พ. ศ. 2485 ผ่านมาตั้ง 40 ปีแล้ว บ้านโปบ้านย่ายังชับหรือแข็งแรงเหมือนเดิม พูดถึงบ้านหลังนี้ ฉันรับประกันว่าในตำบลเสวียดในช่วงเวลานั้นไม่เป็นสองรองใคร ไม่ว่าขนาดที่ได้มาตรฐานและความมั่นคงแข็งแรง โปว่า...
..."ไม้เสาไม้เครื่องสมัยนั้นโปไปเอามาจากแถวหนองแช่แจว ทางไปเกาะบาล
ได้แรงเจ้ามาก เจ้ามี และทองมาช่วยกันหา ไม้เสาเลือกเอาแต่ไม้เคี่ยมต้นใหญ่ต้นตรงไม่คด ไม้เครื่อง จำพวกรอด ขื่อ ดั้ง พรึง แนง คาน ก็เคี่ยมเหมือนกัน เว้นแต่ดานพื้นเอาไม้ม่วง ดานฝาก็เคี่ยม" ฉันอดถามไม่ได้ว่าโปใช้เวลาเตรียมไม้กี่ปี ย่าฟังอยู่ ย่าตอบแทนว่า...
...."สิบหวาปี หนุ่ยเหอ! บ้านแต่แรกอยู่ฝ่ายออกหลังนี้ แต่ก่อนไม่มีเบื้องหลังหนู้มุงจาก หวาตี้ได้ปลูกหลังนี้ ลูกเต็มสาวเต็มบาวกันมั่งแล้ว" ฉันถามย่าว่าใครช่วยลากไม้ให้ ย่าว่า.....
..."เณรคุ้มกับทอง"..."ย่าเณรค้มคือตาคุ้มผัวยายขอมแม่ป้าหอมหมันเปลา"
ฉันถามด้วยระลึกความทรงจำขึ้นมาอย่างกระทันหันด้วยตาคุ้มกับยายขอมตายไปตั้งแต่ฉันเป็นเด็ก ฉันจำช้างศาลของตาคุ้มได้ มันชือสมบูรณ์ ตัวมันใหญ่และดุร้ายมาก โปเคยบอกว่าสมบูรณืมันเคยใช้งาของมันแทงคนตาย โปว่าช้างอายุยืนพอๆกับคน ตอนนั้นสมบูรณ์อายุเจ็ดแปดสิบปีได้ ย่าตอบฉันว่า...
..."หมันและ! สมบูรณ์ของเณรคุ้มกับกวมของทองช่วยลากเสาเรือนมาจากห้วยยอหนองแช่แจว"...



มาถึงวันที่ฉันเขียนบันทึกนี้ พ.ศ.2553 กำลังจะสิ้น ฉันเกษียณการทำงานแล้ว โปและย่าจากไปก็หลายปี เรือนของโปของย่าตกไปถึงชั้นแหลนแล้วตัวเรือนก็ยังชับ ธรรมเนียมอันหนึ่งของตำบลเสวียดคือเมื่อตายจะต้องไว้ศพที่บนเรือน ไม่เอาไปไว้วัด การปลูกเรือนจึงต้องทำให้ชับ ด้วยเมื่อมีงานทั้งพระทั้งคนที่มาฟังสวดเมื่อเจ้าเรือนตาย นับเป็นร้อยคน ถ้าเรือนไม่ชับ ท่านคิดดู เรือนอาจพังได้! มีเรื่องหนึ่งที่ฉันอยากจะลืมแต่ลืมไม่ลง เป็นเรื่องของนักปฏิวัติ หัวสมัย เปลี่ยนแปลงธรรมเนียมประเพณีของชนพื้นเมืองดั้งเดิม โดยไปจัดงานศพย่าที่วัดตูใหญ่ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที ผ่านไปหลายปีแล้ว ไม่เห็นมีใครเอาอย่างทำตาม ฉันได้ยินแต่คนนินทา ฉันไม่ว่าอะไรใคร แต่นึกในใจเป็นนักปฏิวัติหัวสมัยไม่ฟังใครก็เป็นอย่างนี้แหละ!......

(สนิท ไกรสินธุ์) เคยจำกวมได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นที่ท่าโรงช้าง เป็นช้างหระ คงหมายถึงมีแผลตามตัวเพราะถูกคนเลี้ยงลงโทษหลายแห่งเช่นที่หัวหูคอ เข้าใจว่าน้าคุ้มเป็นเจ้าของ ...ที่ว่ากวมเป็นของทอง คืออาทองผัวอาเนื่อมนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นก็คงเพราะมันดุร้ายจนต้องให้หรือขายให้น้าคุ้มเอาไปเลี้ยงให้เชื่อง จำได้ว่าพวกเราเด็กๆกลัวกวมมาก คิดแต่วิ่งหนีไม่มีใครเข้าไปใกล้มัน

1 ความคิดเห็น:

Sanit Krisintu กล่าวว่า...

พ่อยุทธเรียกกุลฑลว่า "สุกเขียว"คงจะหมายถึงผลไม่ที่สุกแล้วแม้ว่าผิวนอกจะยังเขียวอยู่ ความหมายคงจะซ่อนอยู่ว่า อายุยังน้อยแต่ฉลาดและมีวุฒิภาวะเบบผู้ใหญ่

หรือว่าพ่อยุทธเชื่อว่าสุกเขียวนี่เป็นลูกชายคนที่๒(ชื่อคล่อง)ที่ตายแต่ยังเล็กแล้วมาเกิดใหม่ ฉะนั้นเม้ตัวสุกเขียวยังเป็นเด็ก แต่จิตใจก็เป็นผู้ใหญ่ เพราะคล่องนั้น(ถ้ายังไม่ตาย)ก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว